สวัสดีทุกท่านครับ สำหรับในวันนี้นะครับ เราจะพามาดูวิธีการทำปุ๋ยหมักใบไผ่ เป็นเทคนิคจากอาจารย์นิติ ดวงวันทอง รายละเอียดต่างๆและขั้นตอนการทำจะเป็นอย่างไรนั้น เราไปดูกันเลยครับ
ทำไมเราถึงต้องทำปุ๋ยหมักใบไผ่และปุ๋ยหมักใบไผ่มีประโยชน์ยังไงบ้างครับ
เหตุผลที่เราต้องทำปุ๋ยหมักใบไผ่ เพราะว่าในสวนของเรา มีสวนไผ่ ใบไผ่จะร่วงค่อนข้างเยอะ จึงได้เก็บมาทำปุ๋ยหมัก เพื่อที่จะใช้ประโยชน์ในสวน ทั้งใช้ผสมดินในการเพาะกล้าไม้ ใช้ในการบำรุงพืชผักที่เราปลูกด้วยครับ
การเตรียมอุปกรณ์ (สำหรับอัตราส่วน ใบไผ่ 4 ส่วนกับปุ๋ยคอก 2 ส่วน)
1เตรียมใบไผ่
2.ปุ๋ยคอก (ขี้วัว) ครึ่งกระสอบ
3.สารซูปเปอร์ พด.1 (สามารถขอได้จากกรมพัฒนาที่ดินหรือหมอดินใกล้บ้าน เนื่องจากไม่มีขายนะครับ)
4.น้ำใส่บัว
5.บ่อซีเมนต์
ขั้นตอนการทำ
1.ละลายสารซูปเปอร์ พด.1 ทิ้งไว้ประมาณ 10-20 นาที โดยอัตราส่วนการละลายประมาณครึ่งซองต่อน้ำ 10 ลิตร ถ้าทำในปริมาณที่น้อย ก็ใช้อัตราส่วนที่ลดลงมา ไม่จำเป็นต้องใช้ทั้งซอง เพราะสารซูปเปอร์ พด.1 ซองสามารถทำปุ๋ยหมัก 1 ตัน
2.เตรียมใบไผ่และขี้วัวสำหรับทำชั้นที่ 1 โดยเอาใบไผ่ลงก่อน กดลงไปให้แน่นพอประมาณ จากนั้นใส่ขี้วัวลงไป แล้วใช้มือเกลี่ยให้มีความเสมอกัน
3.หลังจากละลายสารเร่งซุปเปอร์ พด. เรียบร้อยแล้ว ก็นำมารดน้ำในชั้นที่ 1 โดยจะรดน้ำให้ชุ่มเปียก เพื่อให้ใบไม้ไม่แห้งหรือละลายช้า
4.เริ่มทำชั้นที่ 2 ต่อ โดยขั้นตอนจะเหมือนการทำชั้นที่ 1 ทุกอย่าง เมื่อทำชั้นที่ 2 เสร็จแล้ว ก็รดน้ำให้ชุ่มเช่นกัน
การดูแลรักษา
ต้องหมั่นมาเช็คความชื้นของใบไม้ ไม่ว่าจะเป็นใบไผ่หรือใบไม่อย่างอื่นก็ตาม ดูแลอย่าให้ใบไม้แห้ง รดน้ำน้ำอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง เพื่อให้มีการย่อยสลาย จุลินทรีย์ได้มีการเติบโตและขยายตัว โดยระยะเวลาการหมักปุ๋ยใบไผ่จะมีการย่อยสลายที่ยากกว่าใบไม้ชนิดอื่น ก็อาจจะอยู่ที่ประมาณ 4 เดือน ถ้าเป็นใบไม้ชนิดอื่นอยู่ที่ประมาณ 3 เดือน ในการทำปุ๋ยหมัก ควรทำพื้นที่กลางแจ้ง ไม่มีหลังคามุง จำเป็นจะต้องไม่ให้น้ำขังในบ่อที่ทำปุ๋ยหมัก มีที่คอยเปิดระบายน้ำออก หากเกิดน้ำขัง จะส่งผลให้เกิดอาการเน่าขึ้นได้
ลักษณะปุ๋ยที่พร้อมใช้งาน
ลักษณะทางกายภาพคือจะมีความนุ่มและอุณหภูมิก็จะเย็น สามารถนำไปใช้ได้เลย
การนำไปใช้งาน
การใช้งานคือเอาไปผสมกับดินเพาะกล้าไม้ แล้วก็ใส่กับพืชผักที่เราปลูกในสวนได้เลย โดยหลักๆเลย คือ เป็นการลดต้นทุนเรื่องของปุ๋ยและเรื่องของดินปลูก หลังจากที่นำไปใช้งาน ก็ตอบโจทย์ในเรื่องของการเพิ่มจุลินทรีย์ในดิน ดินเราจะร่วนซุยได้มากขึ้น ทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ดี
ก็ถือเป็นอันเสร็จสิ้นสำหรับขั้นตอนการทำปุ๋ยหมักจากใบไผ่ เป็นไงกันบ้างครับ สำหรับเกษตรกรที่มีเศษวัสดุเหลือใช้ในสวน สามารถที่จะเอาไปทำแล้วก็ทดลองใช้ได้นะครับ วิธีนี้ได้ผลค่อนข้างดีเลยทีเดียว หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อท่าน สามารถดูคลิปเพิ่มเติมได้ตามลิงค์ด้านล่างได้เลยครับ
ที่มา แนวทางเกษตร เกร็ดความรู้