ทักทายสมาชิกผู้ทำเกษตรทุกๆท่านครับ สำหรับวันนี้เรามีสาระดีๆมาแบ่งปันให้ท่านผู้ชม เป็นวิธีการทำจุลินทรีย์จาวปลวกจากหัวเชื้อ ได้เทคนิคมาจากอาจารย์นิติ ดวงวันทอง เจ้าของสวนเกษตรผสมผสาน ก่อนอื่นหลายๆท่านอาจจะยังไม่ทราบว่าจุลินทรีย์จาวปลวกคืออะไร นำไปใช้ในทางเกษตรได้อย่างไร เราจะมาอธิบายให้ฟังครับ ไปชมกันเลย
จุลินทรีย์จาวปลวก เป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่ง นิยมนำมาใช้ทางเกษตรอินทรีย์ มีประโยชน์ในการเร่งการเจริญเติบโตของพืช ทำให้พืชต้านทานโรคได้ค่อนข้างดีในระดับนึง เพราะว่าจุลินทรีย์จาวปลวก จะประกอบไปด้วยกลุ่มจุลินทรีย์ 3 กลุ่มหลักๆด้วยกัน ได้แก่ ไมคอร์ไรซาที่มีสรรพคุณช่วยดึงธาตุอาหารมาใช้กับพืชได้ กลุ่มที่สองคือไตโคเดอร์มา ที่ช่วยในการป้องกันโรคพืช กลุ่มสุดท้ายคือ โรโลเบสเตอ จะช่วยปลดปล่อยธาตุอาหารที่ตกค้างอยู่ในดิน
จุลินทรีย์จาวปลวก เป็นจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ สามารถย่อยสลายซากพืช ซากสัตว์ หรืออินทรีย์วัตถุต่างๆได้เร็วมากขึ้น เมื่อเทียบกับจุลินทรีย์กลุ่มอื่นแล้ว จุลินทรีย์จาวปลวกจัดได้ว่าเป็นจุลินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายได้เร็วที่สุดครับ
การทำจุลินทรีย์จาวปลวกสามารถ ทำได้ 2 วิธี ได้แก่
1.การทำจากจาวปลวกโดยตรง เป็นการขุดจาวปลวกเพิ่อนำมาทำ วิธีนี้จะได้ธาตุอาหารที่เยอะและหลากหลายชนิด
2.การทำจากหัวเชื้อ สามารถทำจุลินทรีย์ได้เช่นเดียวกัน แต่สารอาหารที่ได้อาจจะไม่เท่าการทำจากจาวปลวกโดยตรง
วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
1.หัวเชื้อจุลินทรีย์จาวปลวก
2.ข้าวหุงกึ่งสุกกึ่งดิบ 1 กก. (ข้าวจ้าว)
3.ถังหมัก
4.น้ำสะอาด
5.กระดาษหนังสือพิมพ์
6.เชือกฟาง
ขั้นตอนการทำ
1.ขยี้หัวเชื้อจุลินทรีย์จาวปลวกให้แตกออกจากกันโดยละเอียด
2.นำลงไปผสมกับข้าว ปริมาณของหัวเชื้อจุลินทรีย์จาวปลวก ยิ่งใส่เยอะก็ยิ่งเป็นเร็วครับ คลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากันดี
3.หากสัมผัสส่วนผสมดูแล้วคิดว่ามันแห้งเกินไป ให้เติมน้ำสะอาดลงไปเล็กน้อย โดยให้ค่อยๆเติมจนได้ความชื้นที่เหมาะสม
4.เมื่อผสมเสร็จแล้ว เทลงไปในถังหมัก ใช้มือเกลี่ยให้ส่วนผสมเสมอกัน
5.นำหนังสือพิมพ์มาปิดปากถัง แล้วใช้เชือกฟางรัดให้แน่น (การใช้หนังสือพิมพ์ปิดแทนฝา จะช่วยป้องกันแมลงต่างๆ และอากาศสามารถถ่ายเทได้ดีกว่า)
การเก็บรักษา
ตั้งเก็บไว้ในบริเวณที่ร่ม เข้าสู่กระบวนการของการเลี้ยงเชื้อ โดยจะใช้เวลาเลี้ยงเชื้อ 3 วัน เมื้อเชื่อเริ่มมีการเดินแล้ว เราจะมาทำการเติมน้ำ แล้วหมักต่ออีก 4 วัน จึงจะนำไปใช้งาน
การนำไปใช้งาน
หลังจากหมักเสร็จแล้ว เราสามารถกรองเอาส่วนที่เป็นน้ำไปใช้งาน รดหรือฉีดพ่นพืชผัก อัตราส่วน 20 ซีซี : น้ำ 20 ลิตร หรือนำไปใช้ในการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุ อัตราส่วน 1 ลิตร : น้ำ 20 ลิตร
ตัวอย่างจุลินทรีย์จาวปลวกที่พร้อมใช้งาน
สำหรับเกษตรกรท่านไหนที่มีจาวปลวกภายในสวนของท่านหรือมีหัวเชื้อ สามารถนำมาขยายเพื่อใช้งานในเชิงเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากคุณสมบัติของจุลินทรีย์ชนิดนี้ค่อนข้างที่จะมีประโยชน์มาก นำไปใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ประสิทธิภาพสูง ขั้นตอนการทำไม่ยาก ลองดูนะครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ สำหรับท่านไหนที่อ่านบทความแล้วยังเกิดข้อสงสัย สามารถคอมเม้นท์เข้ามาสอบถามกันได้ หรือจะรับชมวิดีโอเพิ่มเติมเพื่อประกอบการทำไปด้วย ทีมงานของเราได้ถ่ายทำเอาไว้ ตามลิงค์ที่แนบมาด้านล่างนี้ครับ
เขียนโดย แนวทางเกษตร เกร็ดความรู้
ชมคลิปเพิ่มเติม