สวัสดีผู้ที่สนใจการเกษตรทุกท่านครับ วันนี้ผมจะมานำเสนอการสร้างรางปลูกผักไฮโดรโปนิกส์กึ่งน้ำลึกจากท่อ PVC
อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
1. สว่าน – ใช้เจาะท่อ
2. ปากกาเคมีหรือดินสอ – ใช้จุดทำเครื่องหมายระยะรูที่เราจะเจาะ
3. ไม้บรรทัดหรือเครื่องมือวัด
4. อุปกรณ์ใช้เขี่ยท่อที่ติดโฮลซอ (ผมใช้ตะปูยาว 3 นิ้ว งอปลาย)
5. ดอกสว่าน 5.0 ใช้เจาะรูน้ำออก ท่อส่งน้ำเข้าโต๊ะปลูก และใช้เจาะนำร่องในการเจาะท่อปลูก (เจาะนำร่องของผมใช้เบอร์เล็กกว่าอีก 1 ดอก)
6. โฮลซอขนาด 13/8 นิ้ว หรือ 35 มิลลิเมตร และขนาด 7/8 นิ้ว หรือ 22 มิลลิเมตร
7. ตะไบกลม – ใช้ลับขอบท่อที่เจาะ
8. ท่อ PVC ฝาครอบ ข้อต่อ (ที่จะใช้ทำโต๊ะปลูกและระบบส่งน้ำ) แล้วแต่เราจะออกแบบครับ แต่ท่อปลูกผักในระบบนี้เป็นท่อ 3 นิ้ว เอาขอบบางพอครับไม่ต้องเอาหนา
9. ปั๊มน้ำตู้ปลาและถังน้ำสารละลาย
กระถางที่ผมใช้ปลูกผักเป็น กระถางนิ้ว ซึ่งเป็นกระถางสำหรับใช้อนุบาลกล้วยไม้
วิธีทำ
1.มัดท่อที่เราจะเจาะให้แน่นทั้งหัวและท้าย ป้องกันรูไม่ตรง เพราะเราไม่มีสว่านแท่น
2.วัดระยะห่างระหว่างรูที่จะเจาะเป็นช่องปลูก โต๊ะปลูกใหญ่ผมใช้ระยะ 20 เซนติเมตร โต๊ะอนุบาล 2 และโต๊ะปลูกผักไทย-จีนผมใช้ระยะ 15 เซนติเมตร ส่วนโต๊ะอนุบาล 1 ผมใช้ระยะ 6 เซนติเมตรครับ แล้วใช้ปากกาจุดเพื่อกำหนดตำแหน่งไว้ จากนั้นทำการเจาะนำแล้วตรวจสอบดู หากรูไหนเบี้ยวมากต้องเจาะใหม่ให้ตรงมากที่สุด
3.เจาะจริงกับโฮลซอขนาด 35 มิลลิเมตรครับ เมื่อเจาะเสร็จก็จะได้แบบในรูปครับ เป็นท่อปลูกขนาด 3 นิ้ว เป็นรางอนุบาล 1 ครับ
4.โต๊ะปลูกใหญ่ท่อ 3 นิ้ว หากทำเป็นโต๊ะยาวเกิน 2 เมตร แนะนำให้เจาะรูระบายอากาศด้วยครับ ใช้โฮลซอขนาด 22 มิลลิเมตรเจาะ (หากใช้ขนาด 35 มิลลิเมตร สัตว์ตระกูลกบจะลงไปไข่ไว้ในรางได้) โดยนับจากหัวรางปลูกไป 2 ช่อง แล้วเจาะตรงกลางระหว่างช่องที่ 2 กับช่องที่ 3 จากนั้นนับช่องที่ 3 เป็น 1 นับไป 4 แล้วเจาะตรงกลางระหว่างช่องที่ 4 กับช่องที่ 5 จากนั้นนับช่องที่ 5 เป็น 1 นับไป 4 แล้วเจาะเหมือนเดิม ทำอย่างนี้วนไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหมดรางครับ
5.เมื่อเจาะเสร็จแล้วให้ใช้ตะไบกลมลบเหลี่ยมรอยเจาะครับ หากไม่ลบเวลาถอนผักมันจะบาดราก ทำให้รากขาด เสร็จแล้วได้แบบนี้ครับ สวย สะอาด ไม่บาดมือ
6.จะใส่กระถางได้แบบในรูปครับ โฮลซอขนาด 35 มิลลิเมตร จะยัดกระถางเข้าไปไม่สุดนะครับ ข้อดีของมันคือเมื่อนำกระถางใส่ในช่องแล้วจะแน่น ทำให้เวลาลมพัดต้นผักจะไม่เอียงหรือหลุดออกจากรางปลูกง่าย ๆ (หากฟองน้ำไม่หลุดจากกระถาง
7.ต่อไปเรามาทำฝาครอบท้ายรางกันครับ เริ่มจากนำฝาครอบ PVC ขนาด 3 นิ้วมาเจาะด้วยโฮลซอขนาด 22 มิลลิเมตรครับ โดยวัดจากเส้นผ่านศูนย์กลาง (เอาให้เข้ากลางที่สุดก็แล้วกัน) วัดจากขอบของฝาครอบลงมา 6 เซนติเมตร แล้วเจาะครับ ตะไบขอบออกเล็กน้อย จากนั้นนำข้องอ PVC ขนาด 1/2 นิ้วเกลียวนอก (รูป 2) มาทากาวทาท่อตรงเกลียวและโคนเกลียว แล้วยัดลงในรูที่เราเจาะ ให้ข้องอชี้ลงในแนวเส้นผ่านศูนย์กลาง ทากาวรอยต่อด้านนอกอีกชั้นกันรั่วก็จะได้เหมือนในรูป 4 ครับ
8.เมื่อทุกอย่างพร้อมก็นำท่อที่ทำเป็นรางปลูก ฝาครอบปิดหัวราง (ใช้ข้องอ PVC ขนาด 3 นิ้ว) ฝาครอบปิดท้ายราง (ฝาครอบที่เราทำ) เอาทั้งหมดมาประกอบเข้าด้วยกัน (จะทากาวกันรั่วหรือไม่แล้วแต่ความสมัครใจนะครับ) ของผมทาเพราะถ้าไม่ทามันจะมีน้ำซึมออกมาตลอดครับ เสร็จแล้วก็ทาสีขาวครึ่งบนของรางครับ
9.ใช้ตะขอเกี่ยวกระเบื้องมุงหลังคา (ถูกดี) ดัดเหมือนในรูปครับ แต่ให้เล็กกว่าท่อที่เป็นรางสัก 2-3 มิลลิเมตร เพื่อใช้เป็นตัวยึดรางปลูก โดยนำมาผูกติดไว้กับคานแรกหัวแปลงของโต๊ะ และปลูกตามระยะของแต่ละรางปลูกครับ (ของผมโต๊ะบนสุดใช้ระยะ 30 เซนติเมตรครับ เพื่อให้มีแสงส่องลงมาถึงชั้น 2 และ 3 ด้วย)
ที่ยึดรางท่อขนาด 3 นิ้วครับ
ที่ยึดรางท่อขนาด 2 นิ้วครับ
เสร็จแล้วก็นำรางปลูกประกอบเข้ากับโต๊ะ ตั้งรางปลูกให้อยู่ในระดับเดียวกัน (ไม่ต้องเอียง หากเอียงน้ำจะไม่ขังในท่อ เวลาไฟดับผักจะตาย) วางระบบน้ำเข้าจากในรูปของผมอันนี้เป็นแปลงปลูกยาว 2 เมตร ใช้ท่อ 2 ชั้น โดยมีท่อซ้อนกัน 1 แถว ผมเดินน้ำเข้าท่อบนครับ จากนั้นต่อปลายท่อท้ายรางบนมาเข้าเป็นท่อจ่ายน้ำให้รางด้านล่าง 5 รางปลูก โดยใช้ท่อพีวีซีขนาด 1/2 นิ้ว ในการจ่ายน้ำเจาะด้วยดอกสว่าน 5.0 ตรงตำแหน่งกลางรางปลูกที่ท่อส่งน้ำไหลผ่าน
หัวท่อส่งน้ำ ผมใช้ข้องอต่อลงไปในท่อปลูกต่อฝาครอบ แล้วเจาะรูฝาครอบครับ อันนี้ใช้เป็นตัวยึดแนวท่อส่งน้ำกับปากรางปลูกไม่ให้ท่อจ่ายน้ำออกจากรางปลูก เวลาเราเดินชนโต๊ะหรือมีอะไรไปกระแทกมันเข้า
อันนี้ท่อส่งน้ำที่รางปลูกแถวกลางครับ
หากทำท่อส่งน้ำเข้ากลางโต๊ะแล้วแยกซ้าย-ขวา ก็จะทำการต่อข้องอลงไปที่ปลายท่อทั้งซ้ายและขวาครับ เพื่อยึดไว้ไม่ให้จ่ายน้ำออกไปนอกท่อรางปลูก
ดอกสว่าน 5.0
ส่วนท้ายราง ให้เจาะท่อพีวีซีขนาด 1.5 นิ้ว ด้วยโฮลซอขนาด 35 มิลลิเมตร ตรงตำแหน่งที่จะยึดรางปลูก แล้วนำมาสวมตรงปลายข้องอของฝาครอบท้ายรางปลูก เพื่อเป็นการยึดรางปลูกให้มีระยะห่างเท่ากัน แล้วตั้งระดับให้ด้านที่ยึดท่อแรกสูงกว่าท่อสุดท้าย (ด้านที่ต่อท่อน้ำกับถังสารละลาย)
หากท่อสุดท้ายหรือท่อก่อนหน้านี้ มีระดับข้องอที่อยู่สูงกว่าท่อส่งน้ำกลับ ให้นำท่อพีวีซีขนาด ½ นิ้ว สั้น ๆ มาต่อให้ปากท่อลงไปในรางครับ ไม่อย่างนั้นน้ำจะไม่ลงในท่อส่งน้ำกลับ
ท่อส่งน้ำกลับเมื่อต่อครบทุกรางแล้ว ให้ต่อข้องอหรือสามทางแยกลงในแนวดิ่ง แล้วทำการลดขนาดท่อจาก 1.5 นิ้ว ไปเป็น 1 นิ้ว แทนครับ (เพราะท่อขนาด 1 นิ้ว ถูกกว่า)
– เดินท่อน้ำกลับมายังถังสารละลาย ถังน้ำผมใช้ถังทรงสูงขนาด 14-16 แกลอน ระดับน้ำยิ่งสูงยิ่งดีครับ เพราะมันจะทำให้ปั๊มส่งน้ำได้สูงและมากขึ้นครับ
– ต่อปั๊มกับท่อส่งน้ำ เติมน้ำ เปิดปั๊ม เพื่อทดสอบระบบ หากไม่รั่วและน้ำกลับมาลงถังได้ ไม่ล้นตรงไหน ก็ทำการปลูกได้เลยครับ เป็นอันเสร็จสิ้น (ปั๊มน้ำผมใช้ขนาด AP 2500 หรือ AP 2550 เนื่องจากระบบรางปลูกของผมสูงจากพื้นเกือบ 1.5 เมตรครับ)
– เมื่อระบบเสร็จสมบูรณ์ก็ปิดฝาถัง เพื่อป้องกันสิ่งปนเปื้อนจะลงไปในถังและป้องกันการเกิดตะไคร่น้ำ แต่ควรเปิดฝาถังให้อากาศเข้าได้นิดหน่อย เพื่อระบายความร้อนของน้ำในระบบปลูกด้วยครับ
– เสร็จแล้วครับ แค่นี้เราก็ข้ามปั ญ หาเรื่องไฟดับไปได้เลย หากไฟดับให้ขึงสแลนช่วยในช่วงเที่ยงหรือบ่ายด้วยนะครับ ถึงน้ำในรางจะไม่ร้อนจนทำให้รากผักเน่าได้ แต่อากาศด้านบนยังร้อนอยู่ก็ทำให้ผักเหี่ยวได้เช่นกันครับ (เรื่องราคาหรือต้นทุนการทำไม่ต้องถามผมนะครับ เพราะผมจำไม่ได้แล้ว ให้คุณนำวัสดุต่าง ๆ ที่ผมกล่าวมาข้างต้นไปถามที่ร้านก่อสร้างแถวบ้านเอานะครับ แต่ละที่ราคาจะไม่เท่ากันครับ)
การทำความสะอาดรางปลูกท่อขนาด 2 นิ้ว และท่อขนาด 1.5 นิ้ว ให้ใช้แปรงถูขวดนมเด็กถูในรางได้เลยครับ ส่วนท่อใหญ่ให้คว่ำท่อ โดยเอาช่องปลูกลง แล้วฉีดน้ำแรงดันสูง ๆ เหมือนที่เขาล้างรถเข้าไปแทนการถูครับ
ช่องปลูกที่ใช้โฮลซอขนาด 35 มิลลิเมตร รูเจาะจะสามารถยึดกระถางนิ้วกล้วยไม้ได้ดีครับ เมื่อปลูกแล้วต้นจะไม่โยกไป-มา (ยกเว้นต้นมันยืน)
ต้นนี้…กวางตุ้งฮ่องเต้