สวัสดีผู้ทำเกษตรทุกคนด้วยนะครับ ขอต้อนรับเข้าสู่เพจแนวทางเกษตร เกร็ดความรู้ แน่นอนว่าวันนี้เรามีเกร็ดความรู้มาฝากทุกท่านอีกเช่นเคยครับ เราจะพาทุกท่านไปรับชมวิธีการเลี้ยงปลาดุกกันครับ ซึ่งการเลี้ยงปลาดุกนั้น สามารถเลี้ยงได้หลากหลายูปแบบวิธีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงในบ่อดิน บ่อพลาสติก หรือบ่อปูนซีเมนต์ แต่ละรูปแบบก็จะขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละบุคคลที่ต่างกันออกไป ในวันนี้เราจะพาไปดูวิธีการเลี้ยงปลาดุกในบ่อดินธรรมชาติครับ เป็นการลงทุนที่ประหยัด และสามารถทำได้ง่าย ขั้นตอนการทำนั้นก็ไม่ซับซ้อนเลยครับ ไปดูกันครับ
การเตรียมบ่อ
1.ขุดบ่อตามขนาดที่ท่านต้องการ
2.โรยปูนขาวให้ทั่วบริเวณบ่อเพื่อปรับสภาพดิน อัตราส่วน 60-100 กก./ไร่
3.โรยปุ๋ยคอก เพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติสำหรับลูกปลา อัตราส่วน 100 กก./ไร่
4.เปิดน้ำลงบ่อประมาณ 50 เซนติเมตร
5.ปล่อยทิ้งไว้ 5 วัน จนน้ำเปลี่ยนเป็นสีเขียว แสดงว่าใช้งานได้แล้ว หากยังไม่เป็นให้เติมปูนขาวเพิ่มลงไปครับ หรือถ้าหากมีเครื่องวัดความเป็นกรด-ด่าง ให้วัดค่าความเป็นกรด-ด่างอยู่ที่ประมาณ 6.5-8.5
การเตรียมพันธ์ูปลา
การเลือกพันธุ์ปลา ควรจะซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ โดยให้สังเกตจากลูกปลาจะสามารถว่ายน้ำได้รวดเร็ว แข็งแรง ลำตัวสมบูรณ์ เมื่อได้ลูกปลามาแล้ว ให้นำถุงปลาไปแช่ในน้ำก่อนประมาณ 10-15 นาที เพื่อปรับอุณหภูมิและป้องกันการช็อคน้ำ อัตราส่วนในการปล่อยที่เหมาะสมคือ 80,000-100,000 ตัว/ไร่ ควรกะขนาดของบ่อและขนาดของลูกปลาให้พอดีกันนะครับ เพื่อที่จะได้ไม่แออัดมากเกินไป
การเลือกอาหารปลา
ต้นทุนในการเลี้ยงปลาดุกส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของอาหารครับ เราจึงควรจะต้องมีความรอบคอบในการเลือกอาหาร เพราะว่าในแต่ละช่วงอายุของปลาดุก จะให้อาหารที่แตกต่างกันออกไป เราไปดูหลักการเลือกอาหารให้เหมาะสมกับการเลี้ยงกันเลยครับ
-ลูกปลาดุกขนาด 1-4 เซนติเมตร เลือกใช้อาหารปลาดุกขนาดเล็กพิเศษ
-ลูกปลาดุกขนาด 3 เซนติเมตร เลือกใช้อาหารสำหรับ ปลาดุก 1-3 เดือน
-ขนาดของเม็ดต้องใกล้เคียงกัน ไม่มีกลิ่นหืน ไม่เป็นฝุ่น
-การลอยตัวในน้ำ ไม่ควรจมลมเร็วเกินไปครับ เพราะนั่นหมายถึงอาหารปลาอาจจะมีความชื้นมากเกินไป
-ระมัดระวังอาหารปลาที่ขึ้นรา เพราะจะเป็นสาเหตุให้ลูกปลาตายได้จำนวนมาก
การเลี้ยงปลาดุกนั้นไม่ยากอย่างที่คิดครับ สิ่งที่ต้องดูแลหลักๆเลยก็คือสภาพของน้ำและอาหารเพียงแค่นั้นเอง เนื่องจากปลาดุกเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตไว ทนต่อสภาพอากาศบ้านเราได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันจึงมีการเลี้ยงเป็นจำนวนมาก และเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง สำหรับท่านไหนที่กำลังสนใจอยากจะเริ่มเลี้ยงไว้กินเองหรือเลี้ยงไว้เพื่อการค้าขาย ก็ลองดูนะครับ น่าสนใจดี หากบทความนี้เป็นประโยชน์ก็อย่าลืมกดไลค์กดแชร์กันด้วยนะครับ
เขียนโดย แนวทางเกษตร เกร็ดความรู้