ต้นหม่อน หรือเรียกอีกอย่างว่า “มัลเบอรี่” มีคุณค่าทางอาหารจำพวกวิตามินและแร่ธาตุมากมายที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งในปัจจุบันหม่อนนั้นได้นำมาแปรรูปเป็นอาหารและเครื่องดื่มหลากหลายรูปแบบ การจะมีหม่อนให้มีกินตลอดทั้งปีจะต้องทำอย่างไรนั้น เราจะพาผู้อ่านทุกท่านไปชมวิธีการปลูกหม่อนให้ต้นเจริญเติบโต มีผลออกนอกฤดูและผลดก จะเป็นเช่นไร ไปชมกันครับ
ฤดูกาลที่เหมาะแก่การปลูก คือช่วงหน้าฝน ปลายเมษายนถึงเดือนพฤษภาคมหรือตามสภาพของฝนในแต่ละพื้นที่ จะทำให้ลำต้นมีการเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี เนื่องจากดินมีความชุ่มชื้น ส่งผลให้หม่อนตั้งตัวได้เร็ว
การปลูกในปีแรกควรดูแลให้ต้นหม่อนเลี้ยงลำต้นให้แข็งแรง เมื่อครบปีกิ่งหม่อนแก่แล้ว จึงจะทำการโน้มกิ่งได้ เพื่อให้หม่อนติดดอกออกผล ถ้าต้องการให้ต้นหม่อนมีตอสวยงาม ไม่มีตอเล็ก ตอน้อยมากเกินไปให้ตัดกิ่งไว้ตอ 1-3 ตอ ให้สูงจากพื้นดินประมาณ 80-100 เซนติเมตร หม่อนแต่ละต้นจะถูกบังคับให้ออกผลปีละ 3 ครั้ง ในช่วงระยะเวลาที่แตกต่างกันออกไป
การปลูกต้นหม่อน
1.ระยะปลูก ระยะห่างที่เหมาะสมคือ 4×4 เมตร เพื่อให้กิ่งแผ่รับแสงแดดได้เต็มที่
2.การเตรียมหลุมปลูก ขุดหลุมเป็นร่องยาวตามระยะปลูกขนาด 50 x 50 x 50 เซนติเมตร รองก้นแต่ละหลุมด้วย
– ปุยคอก/ปุ๋ยหมัก 10 กิโลกรัม
– ปูนขาว 1 กิโลกรัม
– ปุยสูตร 15-15-15 250 กรัม
– กลบดิน 1 ชั้นก่อนทำการปลูก
3.วิธีการปลูก ขุดดินลึกพอประมาณ จากนั้นนำท่อนพันธุ์ปักตามระยะปลูกที่กำหนดไว้ แล้วกลบดิน
4.การบังคับทรงต้น ในช่วงปีแรกของการปลูกรากและลำต้นยังเจริญเติบโตไม่มาก อาจหักล้มง่าย จะต้องใช้ไม้ยึดลำต้นเอาไว้ ส่วนของต้นที่ปลูกจากกิ่งชำ เมื่อครบอายุ 6-12 เดือนให้ตัดแต่งกิ่งโดยเหลือกิ่งเดียวไว้เป็นตอ สูงประมาณ 80-100 ซม. มีการแตกกิ่งใหม่ ตัดกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ ให้เก็บกิ่งที่สมบูรณ์ไว้ เพื่อง่ายต่อการดูแล
5.การให้ปุย ใส่ปูนขาวร่วมกับปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในช่วงระยะปีที่ 2 อัตราส่วนต้นละ 250 กรัม
6.การให้น้ำ มีแหล่งน้ำที่สามารถให้น้ำตลอดในช่วงฝนทิ้งฤดูหรือช่วงฤดูแล้ง ให้ดินนั้นมีความชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา
7.การตัดแต่งกิ่งและการดูแลรักษาทรงพุ่ม ตัดเฉพาะกิ่งแขนงที่ไม่สมบูรณ์ทิ้งไป ใช้วิธีการบังคับต้นหม่อน เพื่อให้ได้ผลผลิตผลหม่อนในระยะเวลาที่ต้องการ
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ไม่ยากเลยใช่มั้ยครับ สำหรับการปลูกหม่อนนั้นประหยัดต้นทุน เพียงแต่ต้องอาศัยการดูแลและขยันเท่านั้นเอง อ่านแล้วมีความเห็นอย่างไร คอมเม้นท์เข้ามากันได้นะครับ
เรียบเรียงโดย แนวทางเกษตร เกร็ดความรู้